โครงการ ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย
|
 |
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในจำนวนไม่มากนักที่มีภาษาของตนเองใช้ และเรียกภาษาของตนเองได้อย่างภาคภูมิว่า “ภาษาไทย” ในขณะที่ในอดีต ชนชาติไทยได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มี “มารยาท” งดงามที่สุดในโลก ความอ่อนช้อย นุ่มนวล และละมุนละไม ถือเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาคนไทยหาชาติใดเสมอเหมือนได้ยาก เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความมีอารยธรรม มีระเบียบแบบแผน และยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของสังคมไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ทว่า ในปัจจุบัน วัฒนธรรมจากภายนอกประเทศที่หลากหลายได้หลั่งไหลเข้ามาสู่เยาวชนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้การแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ หากแต่เราจะพยายามประคับประคองให้เยาวชนไทยอ่านออกเสียงภาษาไทยได้อย่างถูกต้องชัดเจน และแสดงออกซึ่งมารยาทได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะ เพื่อรักษาและสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้สัมฤทธิ์ผลอย่างยั่งยืน และหยั่งรากลึกในจิตสำนึกของคนไทยตลอดไป
กว่า 40 ปี มาแล้วที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) มุ่งส่งเสริมเอกลักษณ์และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ผ่านโครงการ “นครหลวงไทยอนุรักษ์เอกลักษณ์ไทย” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เข้าร่วมโครงการที่ประกอบ ด้วย ๒ กิจกรรม คือ การแข่งขันอ่านฟังเสียง และการประกวดมารยาทไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่ เกียรติบัตร และทุนการศึกษาของธนาคารฯ ทั้งนี้กิจกรรม “การแข่งขันอ่านฟังเสียง” เป็นกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษาของชาติ โดยส่งเสริมให้เยาวชนสามารถอ่านออกเสียงภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ส่วน “การประกวดมารยาทไทย” เป็นกิจกรรมเพื่อเผยแพร่แบบอย่างของการปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทไทยได้อย่างถูกต้อง สวยงาม ในหมู่เยาวชนของชาติ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทุกสถาบันการศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยแบ่งระดับการแข่งขันเป็น 5 ระดับ ดังนี้
|
ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3
|
ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6
|
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
|
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
|
ระดับอุดมศึกษา
|
|
ในปี 2554 ธนาคารนครหลวงไทยได้ควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ธนาคารฯ ยังคงเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว และยังคงนโยบายให้จัดกิจกรรมดังกล่าวต่อไป โดยในปี 2554 นับเป็นปีที่ 40 โดยจัดกิจกรรมในนามของธนาคารธนชาต และได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย”
|
ในปี 2554 โครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย” กำหนดจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกขึ้นใน 4 ภาค ได้แก่
|
ภาคเหนือ จัดที่ห้องประชุม สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2554
|
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ห้องประชุม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 9-12 กรกฎาคม 2554
|
ภาคใต้ จัดที่ห้องประชุม อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 16-19 กรกฎาคม 2554
|
ภาคกลางและกรุงเทพฯ การแข่งขันอ่านฟังเสียง จัดที่ห้องประชุม อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนการประกวดมารยาทไทย จัดที่ห้องประชุม อาคาร ดร.ศิโรจน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ระหว่างวันที่ 1-5, 8-11, 18-19, 22-26 สิงหาคม 2554
|
สำหรับรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นที่ห้องรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-2, 5-8 กันยายน 2554
|
ในส่วนของการตัดสิน ธนาคารฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ราชบัณฑิตยสถาน และสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ มาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน
|
สำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกภาคเหนือ มีเยาวชนกว่า 500 คน จาก 180 สถาบัน ใน 17 จังหวัด ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเยาวชนกว่า 650 คน จาก 240 สถาบัน ใน 20 จังหวัด ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และในการแข่งขันรอบคัดเลือกภาคใต้ มีเยาวชนกว่า 350 คน จาก 120 สถาบัน ใน 14 จังหวัดให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนภาคกลางและกรุงเทพฯ มีเยาวชนกว่า 1,470 คน จาก 440 สถาบัน ใน 26 จังหวัด ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ
|
ทั้งนี้ ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ มีผู้ที่ผ่านรอบคัดเลือกจากทุกภาคเข้ามาทำการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 517 คน จาก 200 สถาบัน ซึ่งผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ มีสถาบันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท ดังนี้
|
|
การแข่งขันอ่านฟังเสียง
- ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3
ประเภทชาย ได้แก่ โรงเรียนลาซาล จ.สมุทรปราการ ประเภทหญิง ได้แก่ โรงเรียนเซนต์เมรี่ จ.อุดรธานี
ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ประเภทชาย ได้แก่ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.นครปฐม ประเภทหญิง ได้แก่ โรงเรียนมารีวิทยา กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
ประเภทชาย ได้แก่ โรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์ จ.สงขลา ประเภทหญิง ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี จ.ราชบุรี
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ประเภทชาย ได้แก่ โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ประเภทหญิง ได้แก่ โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ จ.แพร่
- ระดับอุดมศึกษา
ประเภทชาย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ประเภทหญิง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี
|
|
การประกวดมารยาทไทย
- ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ได้แก่ โรงเรียนบูรณะศึกษา กรุงเทพฯ
- ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ได้แก่ โรงเรียนเผดิมศึกษา กรุงเทพฯ
- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กรุงเทพฯ
- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ได้แก่ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง
- ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย กรุงเทพฯ
|
|
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป |
|